18 เมษายน 2024
เอกชนห่วงค่าไฟ

เอกชนห่วงค่าไฟ-ดอกเบี้ย-เงินบาทแข็งค่า กระทบภาคแข่งขัน

กกร.เผยที่ประชุมกังวลค่าไฟ-อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่า กระทบการแข่งขันไทย แม้เศรษฐกิจภายในได้แรงหนุนภาคท่องเที่ยว เอกชนเสนอ 2 แนวทางแก้ไข วอนหน่วยงานรัฐช่วย

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ว่า

ที่ประชุมยังคงกังวลต้นทุนการผลิตที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาค่าไฟฟ้า รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องท่ามกลางค่าเงินบาทที่แข็งค่า อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ภาครัฐต้องมีมาตรการสนับสนุน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานให้เพียงพอ รองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังจากจีนเปิดประเทศ

เอกชนห่วงค่าไฟ

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนหารือร่วมกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พร้อมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ช่วยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยใช้พลังงานเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนไปส่วนหนึ่งแล้ว เพื่อทำให้การคำณวนค่า Ft ในรอบถัดไปมีอัตราที่ลดลง

โดยที่ประชุมมีความคิดเห็นดังนี้ 1.กกร.เสนอให้ปรับลดค่า Ft งวดที่ 2 เดือน พ.ค.-ส.ค. 66 เนื่องจากมีปัจจัยหนุนในด้านการเพิ่มขึ้นของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และราคาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง

2.เห็นชอบในแนวทางการจัดตั้ง กรอ. พลังงาน และให้สำนักงาน กกร.จัดทำโครงสร้างรูปแบบการทำงาน เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบเพื่อพิจารณาจัดตั้งต่อไป และระหว่างการจัดตั้ง กรอ.พลังงาน ขอให้มีคณะทำงาน Task Force ด้านพลังงาน (เฉพาะกิจ) เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้าใจในด้านพลังงาน รวมถึงหารือมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว

โดยมีตัวแทน 3 ฝ่าย ได้แก่ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) สำนักกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.)

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 ยังเป็นที่ติดตาม โดยเศรษฐกิจไทยมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว แต่มีความเสี่ยงจากภาคการส่งออก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจมากกว่า 22.5 ล้านคนที่ประเมินไว้เดิม จากนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและสหรัฐที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด

ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนจะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2 อย่างไรตาม การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงต้นปี และต้องติดตามปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการแข็งค่าของค่าเงินบาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้ว่าจีนจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่อาจไม่เพียงพอที่จะทดแทนความต้องการสินค้าจากประเทศหลักอื่น ๆ

“กกร.ประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัว 3.0-3.5% ส่งออกขยายตัว 1.0-2.0% ส่วนเงินเฟ้อ 2.7-3.2%”

ทั้งนี้ คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ประกอบกับกิจกรรมการผลิตที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจะช่วยพยุงภาคการส่งออกสินค้าในระยะข้างหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมไปถึงการแข็งค่าของเงินบาทไทยด้วย